ครั้งที่ ๑ การเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพสกนิกรจังหวัดนครนายก

วันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘ และนับเป็นครั้งแรกของชาวนครนายกที่ได้มีโอกาส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระมหากษัตริย์และพระราชินีอย่างใกล้ชิด ครั้งนั้นได้มีราษฎรมาเฝ้าสองข้างทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงภายในจังหวัดอย่างแน่นขนัด เมื่อเสด็จฯผ่านอำเภอบ้านนา ทรงพักที่อำเภอบ้านนา และ เปิดโอกาสให้ราษฎรเข้าเฝ้าชมพระบารมี แล้วเสด็จไปที่ศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) เมื่อพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแล้ว เสด็จลงจากศาลากลางจังหวัด ทรงทักทายปฏิสันถารกับราษฎรและเสด็จพระราชดำเนินไปในท่ามกลางหมู่ราษฎร ที่มาเฝ้ารับเสด็จนับหมื่นคน เป็นเวลากว่าเกือบหนึ่งชั่งโมง ด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้มตลอดเวลา จึงเสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากศาลากลาง มีประชาชนห้อมล้อมรถพระที่นั่งเพื่อส่งเสด็จต่างเปล่งเสียงไซโย จนรถพระที่นั่งพ้นศาลากลาง สถานที่เสด็จ : โบสถ์คาทอลิกวัดนักบุญเปาโลกลับใจบ้านนา อำเภอบ้านนา สถานที่เสด็จ : ที่ว่าการอำเภอบ้านนาเจ้าคณะอำเภอบ้านนา เจ้าอาวาสวัดทองย้อย เฝ้ารับเสด็จ และถวายเขากุยซึ่งเป็นสัตว์สูญพันธุ์ สถานที่เสด็จ : ศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) ริมแม่น้ำนครนายกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในพระองค์ เสด็จ ฯ ออกจากที่ว่าการอำเภอบ้านนาไปที่ศาลากลางจังหวัด หลังเก่า เมื่อพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแล้ว เสด็จลงจากศาลากลางจังหวัดทรงทักทายปฏิสันถารกับราษฎร และเสด็จไปในท่ามกลางหมู่ราษฎร ที่มาเฝ้านับหมื่นคน เป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้มตลอดเวลา จึงเสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากศาลากลางมีประชาชนห้อมล้อมรถพระที่นั่งเพื่อส่งเสด็จ ฯ ต่างเปล่งเสียงไชโย จนรถพระที่นั่งพ้นศาลากลาง

Read more

ครั้งที่ ๒ การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครนายก

วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒  เวลาบ่ายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปทรงประกอบ   พิธียกช่อฟ้า และฝังลูกนิมิตพระอุโบสถ วัดวังกระโจม อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก        และเสด็จ ฯ เยี่ยมพสกนิกรที่มาเฝ้า ฯ อยู่ในบริเวณวัดเป็นจำนวนมาก “พระพุทธมงคลนายก” พระประธานพระอุโบสถ วัดวังกระโจม เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๙ เมตร สูงประมาณ ๓ เมตร ท่านเจ้าคุณนรรัตราชมานิตวัดเทพศิรินทราวาส (พระธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ) ได้สร้างหุ่นพระปรานด้วยตนเอง โดยในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเททองพระพุทธรูป พระราชทานนามว่า “พระพุทธมงคลนายก” ทรงประกอบพิธีเบิกพระเนตร ณ มณฑลพิธีหน้าอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ประดิษฐานที่หน้าบัน พระอุโบสถวัดวังกระโจม

Read more

ครั้งที่ ๓ การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครนายก

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ เมื่อเวลา ๑๔.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา) ไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนนวมราชานุสรณ์ โรงเรียนนวมราชานุสรณ์อาคารดังกล่าวเป็นอาคารทรงไทย ๓ ชั้น ปัจจุบันเรียกว่า อาคาร ๑ เป็นอาคารเรียนหลังแรก และเปิดรับสมัครนักเรียนรุ่นแรกจำนวน ๑๐๐ คน มีครู ๑๐ คน ทรงพระราชทานชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียน นวมราชานุสรณ์ (อ่านว่า นะ วะ มะ ราชานุสรณ์) เป็นภาษาบาลี แปลว่า ที่ระลึกรัชกาลที่ ๙ และยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ประดิษฐานไว้ที่หน้าบันของอาคารเรียนเวลา ๑๖.๑๐ น. เสด็จพระดำเนินถึงวัดวังกระโจมภายหลังจาก พลเอก กฤษณ์ สีวะรา รองผู้บัญชาการทหารบก ประธานกรรมการจัดงานพิธีเปิดอาคารเรียนกราบบังคมทูลรายงานการสร้างอาคารเรียนนวมราชานุสรณ์แล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่ออาคารเรียนนวมราชานุสรณ์ ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินออกจากประทับที่มุขพลับพลาพิธี ครูและนักเรียนโรงเรียนนวมราชานุสรณ์ เฝ้า ฯ ครูใหญ่ทูลเกล้า ฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียน นักเรียนทั้งหมดถวายความเคารพและถวายสัตย์ปฏิญาณ นายสมอาจ กุยยกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กราบบังคมทูลเบิกผู้บริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสร้างอาคารเรียน เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ขึ้นอาคารเรียน ทอดพระเนตรอาคารเรียนตามพระราชอัธยาศัย แล้วเสด็จ ฯ ลงสนามหน้าอาคารเรียน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูกต้นประดู่แดง และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงปลูกต้นพุทธบูชา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรซึ่งมาเฝ้า ฯ รับเสด็จ ฯ อยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณวัด ทรงมีพระราชปฏิสันถาร และพระปฏิสันถารกับผู้มา ฯ อย่างใกล้ชิด จากนั้นเสด็จ ฯ กลับ เวลา ๑๗.๔๐ น. (สำนักราชเลขาธิการ ประมวลพระราชกรณียกิจ ๒๕๑๕)

Read more

ครั้งที่ ๔ การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครนายก

วันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ เวลา ๑๓.๒๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินจากที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ไปยังโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำคลองท่าด่าน อำเภอเมืองนครนายก ตลอดจนทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดนครนายกเวลา ๑๕.๐๐ น. เสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณบ้านสีสุก ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก ณ ที่นั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา) เสด็จ ฯ ล่วงหน้ามาก่อนโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากกรุงเทพมหานคร เฝ้า ฯ รับเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเมธี ส.สีสุภาพ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกและนายมนัส ปิติวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน จากนั้น ทรงพระราชดำเนินไปยังริมฝั่งคลองท่าด่านเพื่อทอดพระเนตร บริเวณโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำคลองท่าด่าน (เหวนรก) ซึ่งเป็นเขื่อนแบบอเนกประสงค์ที่ทรงพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาถึงความเหมาะสมในการลงทุนก่อสร้าง เปรียบเทียบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ ในการนี้ได้ทอดพระเนตรแผนที่แสดงบริเวณโครงการ ฯ ที่กำหนดจะสร้างเขื่อนขนาดความยาว ๕๐๐ เมตร สูง ๕๘ เมตร ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำไว้ในอ่างหลังตัวเขื่อนที่มีความจุ ๕๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่ผิวน้ำ ๔๐ ตารางกิโลเมตร สำหรับแนวคลองใต้ตัวเขื่อนซึ่งมีความแตกต่างของระดับพื้นที่ประมาณ ๒๐๐ เมตร จะสร้างเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำเป็นผลพลอยได้ ต่อจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำก็จะสร้างเขื่อนขนาดย่อมสำหรับควบคุมการจ่ายน้ำไปตามคลองส่งน้ำเพื่อการชลประทานในพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณที่ราบ ในการนี้อธิบดีกรมชลประทาน และนายชะลอ รัตนแสน นายช่างใหญ่ฝ่ายเขื่อน ได้กราบบังคมทูลว่า เทือกเขาในบริเวณนั้นมีพื้นที่รับน้ำฝนถึง ๑๕๒ ตารางกิโลเมตร ประกอบกับมีปริมาณน้ำฝนสูง กล่าวคือประมาณ ๒,๗๐๐ มิลลิเมตรต่อปี และได้คำนวณแล้วว่า จะได้ผลคุ้มค่ากับการใช้งบประมาณในการดำเนินการ เพราะจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าได้จำนวนมาก และใช้ในการชลประทานเป็นอาณาบริเวณกว้างได้ตลอดปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่าวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการ ฯ ประการแรกก็คือ การกักน้ำไว้สำหรับส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูกได้สม่ำเสมอตลอดปี อันจะทำให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ถึงปีละ ๒ ถึง ๓ ครั้ง นอกจากนั้นยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในตัวเมือง และใช้เป็นพลังงานสำหรับชลประทานในพื้นที่ราบ เช่นการสูบน้ำส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นดอน ตลอดจนสามารถป้องกันอุทกภัยอย่างได้ผลอีกด้วย ในการดำเนินการสำรวจ จะต้องพิจารณาตัดถนนเชื่อมโยงระหว่างเส้นทางคมนาคมที่มีอยู่แล้วกับหัวงาน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นทางลำเลียงขนส่งและเป็นการสะดวกในการดูแลป้องกันการลักลอบทำลายต้นน้ำ สำหรับตัวเขื่อนก็ควรดำเนินการสร้างโดยรีบด่วน โดยระหว่างการสร้างทำนบชั่วคราวปิดกั้นทางน้ำ ต้องหาวิธีผันน้ำไปตามทางน้ำเดิมเพื่อไมให้ราษฎรผู้ใช้น้ำต้องเดือดร้อน ในขณะเดียวกัน ควรสำรวจแนวที่ขุดคลองส่งน้ำโดยมีอ่างเก็บน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อให้สามารถจ่ายน้ำได้อย่างทั่วถึง เมื่อโครงการ ฯ เสร็จสมบูรณ์ เสร็จแล้ว ทรงพระราชดำเนินไปประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรรอบบริเวณโครงการ ฯ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมชลประทานโดยเสด็จพระราชดำเนินเพื่อกราบบังคมทูลรายละเอียดด้วย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังที่หมายเดิมแล้ว จึงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปวัดท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก เสด็จขึ้นอุโบสถ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสกับพระอธิการทองใส เตชโร เจ้าอาวาส และทรงถวายยาแก่เจ้าอาวาสสำหรับพระภิกษุใช้ในยามอาพาธ และสำหรับแจกจ่ายแก่ราษฎรที่เจ็บไข้ ต่อจากนั้น เสด็จลงทรงเยี่ยมราษฎรและลูกเสือชาวบ้านที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณวัด ทรงมีพระปฏิสันถารและพระปฏิสันถารอย่างใกล้ชิดกับราษฎรเหล่านั้น ในการนี้ ราษฎรและลูกเสือชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาเป็นจำนวนมาก ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินสมทบทุนการดำเนินงานโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำคลองท่าด่าน ซึ่งได้พระราชทานเงินดังกล่าวแก่อธิบดีกรมชลประทานรับไปดำเนินการต่อไป(สำนักราชเลขาธิการ ประมวลพระราชกรณียกิจ ๒๕๑๙ หน้า ๗๓ – ๗๔)

Read more

ครั้งที่ ๕ การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครนายก

วันที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒ เวลา ๑๓.๔๕ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ไปทรงเยี่ยมโครงการชลประทานท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายกในการนี้ ได้ทอดพระเนตรบริเวณพื้นที่ก่อสร้างคลองส่งน้ำไปยังที่ราบ ณ บริเวณบ้านวังยายฉิม ตำบลหินตั้ง ตลอดจนทอดพระเนตรฝายน้ำล้น คลองที่ด่าน ณ บริเวณบ้านสีสุก ตำบลหินตั้ง และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับข้าราชการกรมชลประทาน แสดงออกถึงความพอพระราชหฤทัยที่ได้มีการจัดสร้างระบบชลประทานที่จะช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ถึงเก้าหมื่นไร่ และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จากนั้น เสด็จ ฯ กลับถึงพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน เวลา ๒๐.๔๕ น. พระราชทานพระราชดำรัสแก่กรมชลประทาน เรื่องโครงการชลประทานคลองท่าด่าน ณ บริเวณบ้านสีสุก ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก (สำนักราชเลขาธิการ ประมวลพระราชกรณียกิจ ๒๕๒๒, หน้า ๖๐)

Read more

ครั้งที่ ๖ การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครนายก

เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปทรงวางศิลาฤกษ์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแห่งใหม่ ณ บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดนครนายก ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณเขาชะโงก ได้เสด็จเข้าสู่พลับพลาพิธี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น กราบบังคมทูลถวายรายงานถึงประวัติความเป็นมาของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการย้ายโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไปตั้ง ณ ที่แห่งใหม่ คือที่บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธี เพื่อทรงวางศิลาฤกษ์ ต่อจากนั้น ทรงพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรผังบริเวณที่จะก่อสร้างโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแห่งใหม่ เสร็จแล้ว ทรงพระดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ บริเวณนั้น ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะแพทย์พระราชทาน ทำการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย และทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ (สำนักเลขาธิการ ประมวลพระราชกรณียกิจ ๒๕๒๔ หน้า ๒๔๑) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานชื่อโรงเรียนนายร้อยทหารบกว่า “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” ตั้งอยู่ ณ ถนนราชดำเนินนอกเรื่อยมาจนถึงเดือน ธันวาคมพุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงมีพระราชดำริให้ย้ายมาตั้ง ณ บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง ฯ ต่อกับอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก พื้นที่ประมาณ ๒๑,๐๐๐ ไร่เศษเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จบรรดาข้าราชการลูกจ้างนักเรียนนายร้อยและศิษย์เก่าก็พร้อมใจกันเดินเท้าจากโรงเรียนเก่าถนนราชดำเนินนอก สู่โรงเรียนใหม่ เขาชะโงก เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคมพุทธศักราช ๒๕๒๙ โดยมี พลตรีหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีนำกำลังจากกรุงเทพมหานครสู่นครนายกจนเป็นที่เรียบร้อย

Read more

ครั้งที่ ๗ การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครนายก

วันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙ เวลา ๑๔.๑๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแห่งใหม่ ณ อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ล่วงหน้าไปทรงรับเสด็จ ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแห่งใหม่ด้วย ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าขึ้น ด้วยความตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้ประเทศของเรามีสถาบันการศึกษาทางทหารระดับสูง สำหรับอบรมบุคคลที่ได้รับคัดเลือกว่ามีคุณสมบัติที่ดีเป็นพื้นฐานแล้ว ให้เป็นนายทหารที่มีความรู้ มีสติปัญญาความสามารถ ไว้ให้เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารในกองทัพ และก็เป็นที่น่ายินดี ที่สถานศึกษานี้ได้รับความเอาใจใส่ปรับปรุงต่อมาด้วยดีโดยตลอดจนมีความเจริญมั่นคงอย่างแท้จริง และมีกัลยาณเกียรติปรากฏแพร่หลาย เป็นที่ยกย่องเชิดชูทั่วไปทั่วในประเทศและนานาประเทศ บัดนี้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ายังได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง โดยยกย้ายออกมาตั้งในที่ที่เหมาะสมอย่างยิ่งแกการศึกษาอบรมทางวิทยาการและยุทธการทุกด้าน ทุกรูปแบบ ซึ่งจะเป็นอุปการส่งเสริมให้นักเรียนได้รับการศึกษาอบรมและฝึกหัดอย่างสมบูรณ์ ครบครันที่สุด เพราะปัจจุบันนี้ นายทหารจำเป็นจะต้องมีความรู้ความสามารถสูงและกว้างขวางในการสร้างความมั่นคงทุกด้นทุกแบบให้แก่ประเทศ ความก้าวหน้าครั้งสำคัญนี้ มิใช่จะก่อให้เกิดประโยชน์และความภาคภูมิใจแก่กองทัพสถาบันทหารเท่านั้น แต่ย่อมจะก่อให้เกิดความพอใจและอุ่นใจแก่ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าด้วย ผู้บังคับบัญชาทหารและผู้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสถาบันนี้ โดยเฉพาะนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าทุกรุ่นทุกคนควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปรีชาญาณเห็นการณ์ไกล ถึงประโยชน์ที่จะบังเกิดแก่บ้านเมือง จากการตั้งโรงเรียนนายร้อยขึ้น แล้วต้องตั้งใจพยายามประพฤติปฏิบัติตัวให้ดีให้ตรง สังวรระวังในวินัยและหน้าที่ พร้อมใจพร้อมกำลังกันธำรงรักษาและพัฒนาสถานศึกษาของทุกคนให้มั่นคงก้าวหน้า ด้วยความรู้ ด้วยสติปัญญาความฉลาดรอบครอบ และด้วยความบริสุทธิ์จริงใจเสมอเป็นนิตย์ตลอดไป อย่าให้เสื่อมถอย (สำนักราชเลขาธิการ ประมวลพระราชกรณียกิจ ๒๕๒๙ หน้า ๒๕๙)

Read more

ครั้งที่ ๑๒ การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครนายก

วันที่ ๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๔ เวลา ๑๖.๑๒ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง พร้อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน โครงการเขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงโครงการเขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยพร้อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังอาคารรับรอง แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังเขาลอย ทอดพระเนตรแบบจำลองโครงการเขื่อนคลองท่าด่าน บริเวณก่อสร้างเขื่อน และบริเวณโดยรอบโครงการ ฯ จากนั้น ประทับรถพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังพลับพลาพิธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรและหนังสือที่ระลึก นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลถวายรายงานการดำเนินงานก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดแน่นสูง ๙๓ mเมตร ยาว ๒,๗๒๐ เมตร ความจุอ่างเก็บน้ำ ๒๒๔ ลูกบาศก์เมตร ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำนครนายกที่เกิดขึ้นเป็นประจำ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค และแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวในเขตจังหวัดนครนายก จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีวางศิลาฤกษ์ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม แผ่นอิฐทอง นาก เงิน และแผ่นศิลาฤกษ์ ทรงตอกไม้มงคลลงในหลุม จากนั้น ทางวางแผ่นอิฐทอง นาก เงิน และแผ่นศิลาฤกษ์ลงในหลุม แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พลับพลาพิธีทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารรับรอง สมควรแก่เวลาจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร เขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๒ และเริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า เขื่อนขุนด่านปราการชล เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๙

Read more

ครั้งที่ ๑๑ การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครนายก

วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๗ เวลา ๑๕.๑๓ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง พร้อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากสนามเฮลิคอปเตอร์ สวนจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปทอดพระเนตรบริเวณจะสร้างอ่างเก็บน้ำช่วยเหลือพื้นที่ราบเชิงเขา อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงสนามเฮลิคอปเตอร์บ้านบุ่งเข้ ตำบลหนองแสง อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งต่อไปยังบริเวณธุดงคสถานถาวรนิมิต เสด็จขึ้นศาลากระต่ายชมจันทร์สามัคคีธรรม ทรงพระราชปฏิสันถารกับพระภาวนาพิสาลเถร [พระเทพวิมลญาณ (พระถาวร จิตฺตฺถาวโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม)] จากนั้น พระราชดำเนินไปทอดพระเนตรบริเวณที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีเสียด โดยสร้างเป็นเขื่อนดินปิดกั้นคลองสีเสียด ซึ่งจะสามารถช่วยพื้นที่เพาะปลูกในเขตธุดงคสถานและพื้นที่บ้านบุงเข้ ตำบลหนองแสง รวมพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรตลอดจนการอุปโภคบริโภคได้ตลอดปีตลอดจนการขุดลอกสระน้ำเพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูกตามธรรมชาติธุดงคสถาน เพื่อให้ราษฎรที่อาศัยอยู่รอบบริเวณสามารถดำรงชีพได้โดยไม่ต้องมีการบุกรุกทำลายป่าไม้ต่อไปต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังบริเวณที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกลาง บ้านซำเมย ตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี โดยการสร้างเขื่อนดินปิดกั้นลำน้ำ มีขนาดความจุประมาณ ๑ ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกบริเวณบ้านซำเมย และหมู่บ้านใกล้เคียงในเขตตำบลนาหินลาด ให้มีน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ไร่ จากนั้นทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินต่อไปบริเวณอ่างเก็บน้ำคลองยาง บ้านวังบอน ตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก และในเขตอำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี รวมพื้นที่ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ไร่ ให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างสมบูรณ์ ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำริ ความว่า จากปัญหาหลักของลุ่มน้ำนครนายก คือ การขาดแคลนน้ำเพื่อการชลประทานในพื้นที่โครงการนครนายกจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ ไร่ โดยเฉพาะฤดูแล้ง ซึ่งถึงแม้ว่ารัฐบาลได้มีโครงการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปบ้างแล้ว เช่น การสร้างเหมืองฝายคลองด่าน แต่ปัญหาก็ยังคงมีอยู่และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะไม่มีน้ำในการเพาะปลูกพืชในฤดูฝนทุก ๒-๓ ปี ทำความเสียหายแก่พืชผลและสัตว์เลี้ยง ตลอดจนทรัพย์สินของราษฎรเป็นจำนวนมาก อันจะทำให้เป็นสาเหตุผลักดันให้คนในท้องถิ่นเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร จึงจำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ดังกล่าว ให้สามารถหล่อเลี้ยงการเกษตรกรรมทุกแขนง อาทิ การเกษตร การประมง อันจะทำให้ประชาชนกลับคืนสู่ท้องถิ่น เนื่องจากสามารถพึ่งตนเองได้จากการปลูกข้าว เพื่อการบริโภคอย่างเพียงพอและจำหน่ายผลิตผลการเกษตรได้ ตลอดจนมีความเป็นอยู่อย่างมีสุขสมตามอัตภาพ พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ศึกษาในรายละเอียดและวางแผนดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยเร็ว พร้อมกับให้เร่งสำรวจและออกแบบก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือราษฎรบริเวณที่ราบเชิงเขาซึ่งขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง ส่วนในฤดูฝนเขื่อนเหล่านี้จะสามารถเก็บกักน้ำไว้เพื่อป้องกันมิให้น้ำไหลทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด สำหรับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกลางและแหล่งอื่น ๆ ที่เหมาะสม ตามแนวเชิงเขาไปโดยตลอดด้วย อีกทั้งให้พื้นที่ราบระดับสูงตอนบนจะได้รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางเหล่านี้ร่วมกับพื้นที่ส่วนล่างที่จะได้รับน้ำจากเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำนครนายกที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังจะดำเนินการต่อไป สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามบินเฮลิคอปเตอร์ไปโรงเรียนบ้านโคกสว่าง เพื่อประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงสนามเฮลิคอปเตอร์ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อเวลา ๒๐.๔๙ น.(สำนักราชเลขาธิการ ประมวลพระราชกรณียกิจ พ.ศ.๒๕๓๗ หน้า ๑๒๗ – ๑๒๘)

Read more

ครั้งที่ ๑๐ การเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครนายก

วันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ เวลา ๑๔.๔๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมงกุฎราชกุมาร) เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงรับการสวนสนามจากนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ หน้ากองบัญชาการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายกแล้ว ณ ที่นั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรอรับเสด็จ จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พลับพลาพิธี พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด กราบบังคมทูลรายงาน และขอพระราชทาน อัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นทรงกดปุ่มเปิดพระวิสูตรคลุมพระบรมรูป ต่อจากนั้น เสด็จขึ้นลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นคำจารึก ทรงวางพวงมาลา และจุดเทียนธูปเครื่องทองน้อย กราบถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเสด็จออกมุขพลับพลา พระราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า ผู้ที่เข้ามาศึกษาวิชาในสถาบันวิชาการทหารแห่งนี้ล้วนได้รับการเลือกเฟ้นแล้วว่ามีพื้นฐานทางร่างกายจิตใจ และสติปัญญาดีพร้อม เป็นที่หวังว่าเมื่อได้ศึกษาสำเร็จบริบูรณ์ จะเป็นกำลังสำคัญในแผ่นดินต่อไป เพราะฉะนั้น ในขณะศึกษาอยู่นี้ทุกคนจะต้องพยายามขวนขวายเล่าเรียนอย่างเต็มกำลัง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความฉลาด และความสามารถในการปฏิบัติงาน ให้สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ที่เกื้อหนุนการศึกษาหาความรู้และความฉลาดสามารถนั้น คือ สติ ซึ่งอธิบายอย่างง่ายๆ ได้ว่า ความระลึกรู้ นักศึกษาจำเป็นต้องทำสติ หรือตั้งสติ ความระลึกรู้นี้ไว้ให้มั่นเสมอ เพื่อให้รับรู้และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านพบ อย่างครบถ้วนชัดเจน จักได้สามารถจับเหตุ จับผล จับหลักการได้ถูกต้องตั้งแต่ต้น ข้อใดที่มิใช่ประโยชน์ ก็คัดออกไป ข้อใดที่เป็นประโยชน์ ก็จดจำสะสมไว้ในความทรงจำ อีกประการหนึ่ง เมื่อปฏิบัติหน้าที่หรือกิจการงานใด ๆ ก็จำเป็นต้องมีสติควบคุมกำกับโดยตลอด จักได้ทราบแน่ชัดว่ากำลังทำสิ่งใดอยู่ และควรจะต้องนำวิชาความรู้ข้อใด วิธีการอย่างไร มาใช้ประโยชน์ให้ถูกต้องเหมาะสมทุกขั้นตอน เพื่อให้งานที่ปฏิบัตินั้นบรรลุผลสมบูรณ์ ไม่มีข้อบกพร่องและข้อผิดพลาด ทุกคนควรนำเรื่องสตินี้ ไปพิจารณาให้เห็นชัด และนำไปยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนการศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนการประพฤติทุกอย่างของตน จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงพักพระราชอิริยาบถ ณ ห้องรับรอง สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อเวลา ๑๙.๐๐ น. (สำนักราชเลขาธิการ ประมวลพระราชกรณียกิจ ๒๕๓๑ หน้า ๘๓ – ๘๔)

Read more